ยุทธนาวีที่เกาะช้าง การสู้รบทางเรือบริเวณอ่าวตราด หมู่เกาะะช้าง ที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติไทย

ยุทธนาวีที่เกาะช้างเป็นเหตุการณ์รบทางเรือ เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจาก กรณีพิพาทระหว่างไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส เป็นเหตุการณ์ที่แทรกเข้ามาในระหว่างสงครามโลกครั้ง ที่ ๒ กำลังรบติดพันกันในยุโรป

กล่าวคือในเดือน กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ขณะที่ฝรั่งเศสจะประกาศสงครามกับเยอรมัน ฝรั่งเศสขอให้รัฐบาลไทยทำสัญญาไม่รุกรานกันทางแหลมอินโดจีน รัฐบาลได้โต้ตอบฝรั่งเศสไปว่า ไทยยินดีจะรับตกลงตามคำขอของฝรั่งเศส แต่ขอให้ฝรั่งเศสตกลงบางประการ คือ ให้ฝรั่งเศสปรับปรุงเส้นแบ่งเขตแดน ให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและหลักความยุติธรรม โดยฝ่ายไทยได้เสนอให้ถือแนวร่องน้ำลึกเป็นเกณฑ์และให้ฝรั่งเศสคืนดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงที่ฝรั่งเศสยึดไป คืนให้ไทย เป็นต้น ซึ่งปรากฏว่า ไม่เป็นที่ตกลงกัน

ต่อมาราษฎรได้เดินขบวนแสดงประชามติเรียกร้องดินแดนที่เสียไปอย่างหนักและรุนแรงยิ่งขึ้น การเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้โดยสันติวิธี ฝรั่งเศสได้โจมตีประเทศไทยก่อน โดยส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๓ อันเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ที่ใช้กำลังทหารเข้าสู้รบกัน ทั้งทางบก ทางเรือและทางอากาศ

สำหรับกำลังทางเรือได้มีการรบกันที่บริเวณด้านใต้ของเกาะช้าง ระหว่างกำลังทางเรือของไทยและของฝรั่งเศส เมื่อฝรั่งเศส เริ่มรุกรานประเทศไทยโดยส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนมแล้ว กองทัพเรือได้จัดส่งกำลังไปป้องกันตำบลคลองใหญ่ จังหวัดตราด ซึ่งเป็นตำบลชายแดนสุดทางตะวันออก ติดต่อกับเขตอินโดจีนฝรั่งเศส และทำการลำเลียงทหารนาวิกโยธินไปยังจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราด โดยจัดให้มีการลาดตระเวนค้นหาข้าศึก เพื่อป้องกันการยกพลขึ้นบกของข้าศึกทางฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย

 

เหตุการณ์ก่อนการรบ

ทัพเรือได้จัดกำลังทางเรือ ๑ หมวด ในบังคับบัญชาของนายนาวาโทหลวงพร้อม วีรพันธุ์ ไปปฏิบัติการอยู่บริเวณเกาะช้าง ประกอบด้วยเรือต่างๆ ดังนี้

๑. เรือหลวงธนบุรี เรือปืนยามฝั่ง ระวางขับน้ำ ๒,๒๐๐ ตัน มีนายนาวาโทหลวงพร้อม วีรพันธุ์ เป็นผู้บังคับการเรือ

๒. เรือหลวงสงขลา เรือตอร์ปิโด ระวางขับน้ำ ๔๗๐ ตัน มีนายนาวาตรีชั้น สิงหชาญ เป็นผู้บังคับการเรือ

๓. เรือหลวงชลบุรี เรือตอร์ปิโด รุ่นเดียวกับเรือหลวงสงขลา มีนายเรือเอกประทิน ไชยปัญญา เป็นผู้บังคับการเรือ

๔. เรือหลวงระยอง เรือตอร์ปิโด รุ่นเดียวกับเรือหลวงสงขลา มีนายนาวาตรีใบ เทศนะสดับ เป็นผู้บังคับการเรือ

๕. เรือหลวงหนองสาหร่าย ระวางขับน้ำ ๔๖๐ ตัน มีนายเรือเอกดาวเรือง เพชร์ชาติ เป็นผู้บังคับการเรือ

๖. เรือหลวงเทียวอุทก ระวางขับน้ำ ๕๐ ตัน

 

ในวันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๔ ทัพเรือได้ส่งกำลัง ๑ หมวด ไปสับเปลี่ยนหมวดเรือ ซึ่งทำการรักษาการณ์อยู่บริเวณเกาะช้าง หมวดเรือดังกล่าวได้จอดเรือแยกกัน ดังนี้

เรือหลวงสงขลา เรือหลวงระยอง เรือหลวงชลบุรี จอดอยู่ร่วมกัน ด้านใต้เกาะช้าง

เรือหลวงธนบุรี เรือหลวงหนองสาหร่าย เรือหลวงเทียวอุทก จอดอยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะง่าม

วันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ฝรั่งเศสได้ส่งเครื่องบินทะเล ออกทำการลาดตระเวนในบริเวณเกาะช้างและเกาะกูด ตราด จำนวน ๑ ลำ เกาะเสม็ด ระยอง จำนวน ๑ ลำ และ เกาะสีชัง ชลบุรี จำนวน ๑ ลำ ในการนี้ ทัพเรือได้สั่งให้เครื่องบินทะเลขึ้นขับไล่

เช้าวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เวลา ๐๖.๐๐ น. ฝรั่งเศสได้ส่งเครื่องบินทะเล ๑ ลำ ทำการลาดตระเวนบริเวณเกาะช้างอีกครั้ง เพื่อที่จะทำลายอาคารที่เกาะง่าม เครื่องบินทะเลลำนี้มีขนาดใหญ่ ปีกชั้นเดียว ๒ เครื่องยนต์ ทาสีบรอนซ์ขาว ครั้งแรก เครื่องบินทะเลลำนี้ ได้บินผ่านเกาะง่ามไปทางเหนือ เข้าใจว่าคงไม่เห็นเรือตอร์ปิโดของทัพเรือจอดอยู่บริเวณนี้ ทำให้หวนกลับลงมาทางใต้ จะบินผ่านเกาะง่าม เพื่อที่จะทำลานอาคารที่นั่น เรือหลวงธนบุรี และเรือหลวงหนองสาหร่าย ซึ่งจอดอยู่ที่เกาะลิ่ม ได้แลเห็นเครื่องบินทะเลลำนี้ แต่มิได้ทำการยิง เพราะอยู่ไกล สุดระยะปืน ก่อนหน้าที่เครื่องบินทะเลข้าศึก จะบินผ่านขึ้นไปทางเหนือ ทหารในเรือหลวงสงขลาและเรือหลวงชลบุรี กำลังหัดกายบริหารตามตารางการฝึกและปฏิบัติหน้าที่ภายหลังการตื่นนอน ซึ่งทหารเรือถือเป็นกิจวัตรประจำวันที่ทำให้ทหารมีสุขภาพที่สมบูรณ์ แข็งแรง เพื่อพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ ครั้นเมื่อได้รับรายงานว่า ได้ยินเสียงเครื่องบินข้าศึก ผู้บังคับบัญชาได้สั่งให้ทหารเข้าประจำสถานีต่อสู้อากาศยานทันที ในเวลาไม่ถึง ๑ นาที ทหารก็เข้าประจำปืน ๗๕ มม. ปืนกล ๒๐ มม. และปืนกล ๘ มม. ตลอดจนปืนเล็กยาว พร้อม ต่อมาสักครู่ จึงได้เห็นเครื่องบินทะเลข้าศึก โผล่ออกมาจากเกาะช้าง บ่ายหน้าไปทางใต้ และทิ้งระเบิดจำนวน ๒ ลูก ลงอาคารบนเกาะง่าม แต่มิได้ถูกที่หมาย ระเบิดได้ตกลงน้ำระหว่างช่องแหลมเทียนใต้เกาะช้างกับเกาะง่าม ในขณะนั้นปืนต่อสู้อากาศยานและปืนกลของเรือตอร์ปิโดทั้งสองได้ยิงกระหน่ำออกไปในระยะไม่เกิน ๒,๐๐๐ เมตร กระสุนหลายนัดได้ไประเบิดอยู่รอบๆ ลำเครื่องบินทะเล เครื่องบินทะเลได้พยายามบินขึ้นหาระดับสูง แต่ปรากฏว่าได้ถูกกระสุนที่ปีกขวา และตอนหัวมีไฟลุกไหม้ขึ้นทันที แล้วได้บินถลาต่ำลงทุกที และหายไปทางทะเลด้านใต้เกาะหวาย ในขณะเดียวกับที่ได้ส่งเครื่องบินทะเลออกทำการลาดตระเวน ขณะที่เครื่องบินทะเลข้าศึก กำลังออกทำการลาดตระวน กำลังทางเรือของข้าศึก ก็ได้อาศัยความมืดรุกล้ำเข้ามาทางด้านใต้เกาะช้าง มีด้วยกันทั้งหมด ๕ ลำ เรือเหล่านี้ แยกออกเป็น ๓ หมู่ ดังนี้ คือ

หมู่ที่ ๑ ลามอตต์ปิเกต์ ( Lamotte Picquet) เรือลาดตระเวน ระวางขับน้ำ ๗,๘๘๐ ตัน ใช้เป็นเรือธง (เรือบัญชาการ) มี นาวาเอกเบรังเยร์ เป็นผู้บังคับการเรือ เข้ามาทาง ช่องทางด้านใต้ของเกาะหวายและเกาะใบดั้ง

หมูที่ ๒ เรือดูมองต์ ดูรวิลล์ (Dumont D’ Urville) เรือสลุป มีนายนาวาเอกตูซาแซงค์ เดอ กิแอฟร์คูรต์ ( CV Toussaint de Quievrecourt) เป็นเรือชั้นเดียวกันกับเรืออามิราล ชาร์แบนร์ ระวางขับน้ำ ๒,๑๕๖ ตัน มีนายนาวาโทเลอ คาลเวช์ (CF Le Calvez) เป็นผู้บังคับการเรือ เข้ามาทางช่องด้านใต้ ระหว่างเกาะคลุ้มกับเกาะหวาย

หมู่ที่ ๓ เรือมาร์น (Marne) เรือช่วยรบ ระวางขับน้ำ ๖๔๔ ตัน มีนายนาวาตรีเมร์คาดิเอร์ (CC Mercadier) เป็นผู้บังคับการเรือ และเรือตาฮูร์ (Tahure) เรือช่วยรบ ระวางขับน้ำ ๖๐๐ ตัน มีนายนาวาตรีมารร์ค (CC Marc) เป็นผู้บังคับการเรือ เข้ามาทางช่องด้านตะวันตก ระหว่างเกาะคลุ้มกับแหลมบางเบ้าของเกาะช้าง ส่วนเรือดำน้ำ ๑ ลำ และเรือสินค้าติดอาวุธ ๑ ลำ คงรออยู่ด้านนอกในทะเล และไม่ได้เข้าทำการรบ

เรือลามอตต์ปิเกต์ ซึ่งเป็นเรือนำ ได้เล่นเข้ามาในระยะ ๑,๒๐๐ เมตร จาก เกาะง่าม และได้ระดมยิงอาคารบนเกาะง่าม เรือหลวงสงขลาและเรือหลวงชลบุรีได้ทำการยิงต่อสู้ เรือลามอตต์ปิเกต์ จึงได้เปลี่ยนเป้า มาทำการยิงเรือตอร์ปิโด ทั้งสองทันที กำลังเรือฝ่ายไทย ที่เข้าทำการรบมี ๓ ลำ คือ เรือหลวงธนบุรี จอดอยู่ที่บริเวณเกาะลิ่ม ส่วนเรือหลวงสงขลาและเรือหลวงชลบุรี จอดอยู่ที่อ่าวสลักเพ็ชร กำลังทางเรือฝ่ายข้าศึก ที่เข้าทำการรบ รวมด้วยกัน ๗ ลำ เฉพาะเรือลามอตต์ปิเกต์ ลำเดียวมีระวางขับน้ำ ๗,๘๘๐ ตัน ซึ่งมีระวางขับน้ำมากกว่าเรือรบของเราทั้ง ๓ ลำ รวมกัน นอกจากนั้น ก็มีเรือสลุป ๒ ลำ ระวางขับน้ำ ลำละ ๒,๑๕๖ ตัน และเรือบินอีก ๔ ลำ เมื่อเปรียบเทียบกำลังรบของทั้งสองฝ่าย จะเห็นได้ว่า เราได้เข้าทำการต่อสู้กับข้าศึก ทั้งที่มีจำนวนเรือมากกว่า ระวางขับน้ำมากกกว่า จำนวนปืนหนักและปืนเบามากกว่า และจำนวนทหารประจำเรือมากกว่า ฝ่ายเราคงได้เปรียบเฉพาะที่ว่า มีปืนหนักที่มีขนาดใหญ่กว่าเท่านั้น แต่ก็กลับเสียเปรียบที่ยิงได้ช้ากว่า

การรบระหว่างเรือหลวงธนบุรีกับเรือลามอตต์ปิเกต์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากได้มีการปะทะกันระหว่างเรือหลวงสงขลาและเรือหลวงชลบุรีกับเรือรบฝรั่งเศสแล้ว ในตอนเช้าตรู่ ของวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๔ ขณะที่เรือหลวงธนบุรี กำลังฝึกหัดศึกษาตามปกติอยู่นั้น ประมาณ ๐๖.๑๒ น. ยามสะพานเดินเรือ ได้เห็นเครื่องบินข้าศึก ๑ เครื่อง บินมาทางเกาะกูด ผ่านเกาะกระดาด มาตรงหัวเรือ ทางเรือจึงได้ประจำสถานีรบ แต่ยังมิได้ทำการยิง เพราะอยู่ไกลสุดระยะปืน และเครื่องบินทะเลข้าศึก ได้บินเลี้ยวไปทางเกาะง่าม ตรงบริเวณเรือตอร์ปิโด ทั้ง ๒ ลำ ฝ่ายเราจอดอยู่ และทันใดนั้น ทหารทุกคนก็ได้ยินเสียงปืนจากเรือตอร์ปิโดทั้ง ๒ ลำ นั้น คือ เรือหลวงสงขลา และ เรือหลวงชลบุรี ทำการยิงสกัดกั้นเครื่องบินข้าศึก โดยทุกคนได้เห็นกลุ่มควันของกระสุน ระเบิดในอากาศ อยู่ล้อมรอบเครื่องบินทะเลและเครื่องบินก็ลับหายไป จากนั้น ทุกคนก็ได้ยินเสียงปืนใหญ่ดังขึ้นและเป็นเสียงดังอย่างถี่ ยามสะพานเดินเรือได้รายงานว่า เห็นเรือข้าศึกทางใต้เกาะช้าง โดยที่ยามมองตรงช่องระหว่างเกาะช้างกับเกาะไม้ซี้ใหญ่ เรือที่ยามเห็นนี้ คือ ลามอตต์ปิเกต์ ซึ่งกำลังระดมยิงเรือหลวงสงขลา และเรือหลวงชลบุรี ของเราอยู่นั่นเอง ลักษณะอุตุในขณะนั้นปรากฏว่า มีเมฆขอบฟ้า พื้นทะเลมีหมอกบางๆ ลมเซ้าท์เวสท์ กำลัง ๑ ไม่มีคลื่น ทัศนวิสัย ๖ ไมล์ อากาศค่อนข้างหนาว ปรอท ๒๗ °C เมื่อปืนป้อมทั้ง ๒ ป้อม พร้อม น.ท.หลวงพร้อม วีรพันธุ์ ผู้บังคับการเรือได้สั่งเดินหน้าเต็มตัว ๒ เครื่อง ความเร็ว ๑๔ นอต ถือเข็มประมาณเซ้าท์อีสท์ เข้าหาข้าศึก และได้สั่งเตรียมรบกราบขวาที่หมายเรือลาดตระเวนข้าศึก ประมาณ เวลา ๐๖.๔๐ น. ขณะที่เรือหลวงธนบุรี ได้ตั้งลำพร้อม เรือลามอต์ปิเกต์ ก็โผล่จากเกาะไม้ซี้ใหญ่ และเป็นฝ่ายเริ่มยิงเราก่อนทันที เรือหลวงธนบุรีได้เริ่มยิงตับแรกด้วยป้อมหัวและป้อมท้ายโดยตั้งระยะ ๑๓,๐๐๐ เมตร ทันใดนั้นเอง กระสุนตับที่ ๔ ของเรือลามอต์ปิเกต์ มีนัดหนึ่งเจาะทะลุผ่าห้องโถงนายพลและชอนระเบิดทะลุพื้นหอรบขึ้นมาเป็นเหตุให้ น.ท.หลวงพร้อม วีรพันธุ์ และทหารในหอรบอีกหลายนายต้องเสียชีวิตในทันที และมีอีกหลายนายได้รับบาดเจ็บ สาหัส เนื่องจากถูกสะเก็ดระเบิดและถูกไฟลวกตามหน้าและตามตัว กระสุนนัดนี้เอง ได้ทำลายเครื่องติดต่อสั่งการไปยังปืนและเครื่องถือท้ายเรือ เรือซึ่งกำลังเดินหน้าด้วยความเร็ว ๑๔ นอต ได้แล่นหมุนเป็นวงกว้าง อยู่หลายรอบ ซึ่งในขณะนี้เอง เรือลามอต์ปิเกต์ ได้ระดมยิงเรือหลวงธนบุรี อย่างหนาแน่น ปืนป้อมทั้ง ๒ ของเรือหลวงธนบุรีต้องทำการยิงอิสระ โดยอาศัยศูนย์ข้างและศูนย์ระยะที่หอกลาง ปรากฏว่า เรือลามอต์ปิเกต์ ได้ถูกกระสุนปืนจากเรือหลวงธนบุรีเช่นกัน โดยมีแสงไฟจากเปลวระเบิด และควันเพลิงพุ่งขึ้นบริเวณตอนกลางลำ จำต้องล่าถอยมารวมกำลังกับหมู่เรือฝรั่งเศสอีก ๔ ลำ ทางตะวันตกของเกาะเหลาใน และแล่นหนีไปในที่สุด เมื่อเรือของฝรั่งเศส ได้ไปจากสนามรบหมดแล้ว ก็ปรากฏว่า ได้มีเครื่องบินลำหนึ่ง บินมาทางหัวเรือและดำทิ้งระเบิด ระยะต่ำ จำนวน ๒ ลูก ลูกระเบิดตกบนดาดฟ้าเรือโบตหลังห้องครัวทหาร ทำให้ทหารตายอีก ๓ นาย ทางเรือไม่ได้ยิงต่อสู้ประการใด เพราะเครื่องบินลำนั้นมีเครื่องหมายไทยติดอยู่ เวลา ๐๓.๓๐ น. เรือหลวงธนบุรี แล่นไปทางแหลมน้ำ ไฟลุกทั่วไปในช่องทางเดิน ต้นเรือ ( นายทหารอาวุโสที่สองรองจากผู้บังคับการเรือ ) พาเรือมาทางแหลมงอบ เรือเอียงทางกราบขวาและต่อมาก็หยุดแล่น เรือหลวงช้างได้เข้าช่วยดับไฟและจูงเรือธนบุรีไปจนถึงหน้าแหลมงอบ เพื่อเกยตื้น และต้นเรือได้สั่งสละเรือใหญ่ เมื่อเวลา ๑๑.๐๐ น. ต่อมาเวลาประมาณ ๑๖.๔๐ น. กราบเรือทางขวาก็เริ่มตะแคง เอนลงมากขึ้นตามลำดับ เสาทั้งสองเอนลงน้ำ กราบซ้ายและกระดูกงูกันโครงโผล่อยู่พ้นน้ำ

การรบครั้งนี้ ทางฝ่ายเราได้เสียชีวิตเป็นชาติพลี รวมทั้งสิ้น ๓๖ นาย เป็นนายทหาร ๒ นาย พันจ่า จ่า พลทหารและพลเรือ ๓๔ นาย ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นทหารประจำเรือหลวงธนบุรี ๒๐นาย เรือหลวงสงขลา ๑๔ นาย และเรือหลวงชลบุรี ๒ นาย ส่วนจำนวนทหารที่เสียชีวิตและบาดเจ็บของฝ่ายข้าศึกนั้น ไม่ทราบจำนวนแน่นอน

ต่อมา กองทัพเรือไทย ได้กู้ขึ้นมาทำการซ่อมใหญ่ในเดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๘๔ แต่เนื่องจากเรือเสียหายหนักมาก จึงได้ปลดระวางจากการเป็นเรือรบและใช้เป็นกองบังคับการลอยน้ำของกองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ จนกระทั่งปลดประจำการในปี พ.ศ.๒๕๐๒

หลังจากนั้น ทางราชการจึงได้นำส่วนป้อมปืนเรือและหอบังคับการของเรือหลวงธนบุรี มาจัดตั้งเป็นอนุสรณ์เรือหลวงธนบุรี โรงเรียนนายเรือ จังหวัดสมุทรปราการ และได้กำหนดให้ วันที่ ๑๗ มกราคม ของทุกปี เป็น "วันสดุดีวีรชนกองทัพเรือ” โดยได้ประกอบพิธี ณ อนุสรณ์เรือหลวงธนบุรี โรงเรียนนายเรือ จังหวัดสมุทรปราการ

นอกจากนี้ ทางจังหวัดตราด ได้จัดงานวันวีรกรรมทหารเรือไทยในยุทธนาวีที่เกาะช้าง ขึ้นเช่นเดียวกัน โดยจัดงานขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๑ ณ บริเวณอนุสรณ์สถานยุทธนาวีที่เกาะช้าง และพิธีลอยพวงมาลา ณ บริเวณสถานที่เกิดเหตุการณ์ เพื่อระลึกถึงวีรกรรมอันกล้าหาญของทหารเรือไทย ที่ได้สละชีวิตในการปกป้องประเทศชาติและอธิปไตยของไทยให้คงอยู่สืบไป .

 

: ที่มาข้อมูล - หนังสือพิพิธภัณฑสถานเมืองตราด กรมศิลปากรจัดพิมพ์เนื่องในพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานเมืองตราด จังหวัดตราด เมื่อ ๒๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๒๖ หน้า ๖๙-๗๗

รวบรวมนำเสนอโดย แสวง ศรีทอง นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดตราด


image รูปภาพ
image

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar